ธอส. โชว์ยอดปล่อยกู้ Q1/65 พุ่งกว่า 6.2 หมื่นล้าน หลังดอกเบี้ยต่ำ-มาตรการ LTV หนุนคนไทยซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยเพิ่ม ขณะที่หนี้เสียลดลง ลดลง 0.14% พร้อมคาด ณ สิ้นปี 2565 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 270,000 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิเผย ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 62,408 ล้านบาท 50,024 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 33.21%

 

เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง คิดเป็นสัดส่วน 74.47% ของจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งหมด

ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.489 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.10% สินทรัพย์รวม 1.54 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.25% เงินฝากรวม 1.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.79% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 57,510 ล้านบาท คิดเป็น 3.86% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.00%

 

มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ 115,659 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL 201.17% และยังคงมีกำไรสุทธิ 3,492 ล้านบาท

 

ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 15.28% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5%

 

ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 10 เมษายน 2565 มียอดอนุมัติสินเชื่อ 10,837 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 270,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกำหนด

 

“นับเป็นครั้งแรกของธนาคารที่สามารถปล่อยสินเชื่อในไตรมาสที่ 1 ได้สูงถึง 62,408 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการรัฐบาล ทั้งการลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนอง การผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของ ธปท.

 

ความต้องการของประชาชนที่ต้องการขอสินเชื่อก่อนที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธอส. ขณะที่โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี นาน 4 ปีแรก” นายฉัตรชัย กล่าว

 

ขณะเดียวกันธนาคารยังติดตามและให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าส่วนใหญ่มีความแข็งแรงทางรายได้ และกลับมาชำระได้ตามปกติ เห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่ครบกำหนดความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 122,764 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 127,494 ล้านบาท

 

แบ่งเป็นลูกค้าที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขยายการให้ความช่วยเหลือต่ออีก อย่างน้อยถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 85,175 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 87,074 ล้านบาท นั้น

 

พบว่ามีลูกค้าที่ชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการหรือชำระบางส่วนคิดเป็นสัดส่วน 94.40% ส่วนลูกค้าที่ออกจากมาตรการอีกจำนวน 37,589 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 40,420 ล้านบาท กลับมาชำระเงินงวดตามปกติ หรือ ชำระบางส่วนคิดเป็นสัดส่วน 93.98%

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market