ธ.ก.ส.โอนเงินค่าสินไหมในโครงการประกันภัยข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 กว่า 1.5 พันล้านบาท ช่วยบรรเทาความเสียหาย-ลดความเสี่ยงด้านการผลิตแก่เกษตรกรกว่า 1 แสนราย

วันที่ 5 มีนาคม 2565 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.มุ่งดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต โดยใช้การประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเครื่องมือคุ้มครองความเสียหายจากกรณีเกิดภัยธรรมชาติ และมีเป้าหมายในการทำประกันภัยบนพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศกว่า 46 ล้านไร่

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการประกันภัย โดย ธ.ก.ส. ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยข้าวนาปีไปแล้วจำนวน 12 ครั้ง เป็นเงินกว่า 1,522 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 1.2 ล้านไร่ และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 8 ครั้ง เป็นเงิน 34 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 22,945 ไร่ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์รวมกว่า 113,931 ราย โดยประกันคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า

ขณะที่โครงการประกันภัยข้าวนาปี ให้วงเงินคุ้มครองจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,500 บาทต่อไร่ และในกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด โครงการประกันภัยข้าวนาปี ให้วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้วงเงินคุ้มครอง 750 บาทต่อไร่

“ในการดำเนินงาน เมื่อเกษตรกรผู้ทำประกันภัยได้รับความเสียหาย จะแจ้งความเสียหายที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ จากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอทำการส่งข้อมูลไปยังสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อประเมินข้อมูลความเสียหาย เมื่อตรวจสอบแล้วครบถ้วน สมาคมฯ จะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขภายใน 15 วันผ่านระบบ ธ.ก.ส. จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินค่าสินไหมทดแทน เข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรโดยตรง”

ทั้งนี้ ปีการผลิต 2564 มีเกษตรกรให้ความสนใจทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 3.59 ล้านราย พื้นที่การเกษตรกว่า 43 ล้านไร่ และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 96,620 ราย พื้นที่การเกษตรกว่า 1.5 ล้านไร่ ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตได้เป็นอย่างดี โอกาสนี้ ธ.ก.ส. ขอเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพราะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance