เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด นักลงทุนแห่ขายดอลลาร์ทำกำไร ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรตเงินตราระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่เป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับค่าเงินสกุลหลัก ยังคงเคลื่อนไหวเหนือระดับ 99.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2563
โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลของนักลงทนจากความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีปัญหาต่อเนื่องมากว่า 20 วัน โดยกองกำลังทหารรัสเซียยังคงโหมบุกโจมตีเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศยูเครนอย่างหนักหน่วง และรัสเซียกำลังขยายการโจมตียูเครนกว้างขวางมากขึ้น ไปยังภาคตะวันตกติดกับโปแลนด์ โดยรัสเซียได้ระดมยิงจรวดถล่มค่ายทหารยูเครนในเมืองยาโรวิฟ ติดชายแดนโปแลนด์
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐกล่าวอีกครั้งว่า จะไม่ส่งกองกำลังอเมริกันเข้าร่วมรบในสงครามยูเครน เนื่องจากเกรงว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกได้ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยนักลงทุนยังคงรอดูผลของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนที่จะมีขึ้น
ค่าเงินดอลลาร์เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในวันพุธ (16/3) ภายหลังจากเฟดเริ่มการประชุมในวันแรกและอ่อนค่าลงอย่างมากจากแรงเทขายดอลลาร์เพื่อทำกำไรของนักลงทุนในตลาด ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวแถวระดับ 2.17% ภายหลังจากการประชุมเฟดเสร็จสิ้นและมีการเปิดเผยการประชุมออกมา โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ครั้งละ 0.25% ซึ่งหมายความว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2566 แต่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณปรับลดขนาดงบดุลในการประชุมในอนาคต โดยงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) มูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า สงครามในยูเครนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งในระยะใกล้ ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจ แต่การปรับขึ้นเเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ขณะเดียวกันเฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 4.0% และคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566-67 ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.8%
ในส่วนของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (14/3) ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 33.28/30 บาท โดยการเคลื่อนไหวในช่วงต้นสัปดาห์ยังคงไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภมิภาคเอเชีย ก่อนที่จะปรับตัวแข็งค่าในวันพฤหัสบดี (17/3) จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์
ประกอบกับได้รับปัจจัยหนุนจากการที่จีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากมีการล็อกดาวน์หลายเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการซื้อขายเพราะมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกไม่ให้ชะลอตัวลงไปมาก โดยในวันศุกร์ (18/3) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) มีมติเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้เดินทาง Test & Go (บก น้ำ อากาศ) Sandbox Quarantine (AQ, OQ, SQ) และผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ดังนี้
1.ก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทุกกลุ่มเมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักร 2.กรณี Test & Go และ Sandbox ไม่ต้องตรวจ RT-PCR และ Self-ATK วันที่ 5 และ 3.กรณี Quarantine กักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.21-33.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/3) ที่ระดับ 1.0924/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 1.0965/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยเชิงลบ จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง
นอกจากนี้สำนักงานสถิติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังปรับตัวขึ้นช้ากว้าในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2535 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 5.1% เทียบรายปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และหากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 0.9% สอดคล้องกับระดับคาดการณ์ ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีดิ่งลงสู่ระดับ -39.3 ในเดือน มี.ค. จากระดับ +54.3 ในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +10.0
โดยการดิ่งลงของดัชนีดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่าเยอรมนีมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ค่าเงินยูโรผันผวนได้ในอนาคต โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0899-1.1137 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่รดับ 1.1080/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
อนึ่ง ค่าเงินปอนด์ย่อตัวลงในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (17/3) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายน้อยกว่าคาดในอนาคต ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ลดลงในการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก โดย BOE มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 3 ครั้งติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (14/3) ที่ระดับ 117.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 117.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นบริเวณกรอบล่างของ 119 เยน ภายหลังพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อเงินดอลลาร์เพราะนโยบายการเงินของสหรัฐกับญี่ปุ่นมีทิศทางต่างกัน ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น
ในวันพฤหัสบดี (17/3) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยข้อมูลการค้าโดยระบุว่า ยอดนำเข้าในช่วง 12 เดือนถึงเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 34.0% และสูงกว่าค่ากลางในผลสำรวจของรอยเตอร์สเล็กน้อยที่คาดการณ์ไว้ว่าจเพิ่มขึ้น 28.0% นอกจากนี้ ยอดดังกล่าวยังสูงกว่ายอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 19.1% เมื่อเทียบรายปีในเดือน ก.พ. และส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 8.683 แสนล้านเยน (5.65 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.126 แสนล้านเยน
ในวันเดียวกัน นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% แม้ราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นก็ตาม ซึ่งจะทำให้ BOJ ยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป
การแถลงของนายคุโรดะตอกย้ำถึงมุมมองด้านนโยบายการเงินที่ต่างกันอย่างมากระหว่าง BOJ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 117.29-119.12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 118.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance