ธนาคารกรุงเทพ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 65 ขยายตัว 3-4% การส่งออกเติบโต 25% อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มองการขาดแคลนสินค้า ดันเงินเฟ้อเพิ่มเฉลี่ย 1-2% ชั่วคราวก่อนปรับลดลง แนะไทยเตรียมรับมือตลาดการเงินผันผวนหลังธนาคารกลางถอนมาตรการการเงิน-ดึงสภาพคล่องกลับ หนุนเงินบาทอ่อนค่า-ต้นทุนการเงินเพิ่ม

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน “Economic and Investment Outlook 2022: เปิดมุมมองเศรษฐกิจโลก เจาะลึกกลยุทธ์การลงทุนไทย” ในหัวข้อ “ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศไทย” ว่า

ธนาคารกรุงเทพ ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ราว 1% และในปี 2565 ขยายตัวเป็น 3-4% โดยแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยมาจากภาคส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ

 

ทั้งนี้ หากดูเครื่องชีวัดเศรษฐกิจจพบว่าปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกตัว โดยเทียบดัชนีก่อนโควิด-19 อยู่ที่ระดับ 100% จะเห็นว่าเครื่องชีวัดหลายตัวกลับไปเป็นปกติ เช่น ภาคส่งออกขยายตัว 125% มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่ำอยู่ที่ 5.9% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่าคาดการณ์ 3-4% อาจจะต้องอยู่ภายใต้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

และหากดูข้อมูลอัตราการเข้าพักโรงแรม จะพบก่อนโควิด-19 ระบาดอัตราการเข้าพักสูงถึง 80% หลังจากที่มีการระบาดอัตราการเข้าพักลดลงเหลือ 0% และหลังจากนั้นทยอยปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 35% และหลังจากสายพันธุ์เดลต้าอัตราการเข้าพักลดลงเหลือ 2-3% ก่อนจจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 38% ในปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ Test & Go ที่หลังจากภาครัฐมีการเปิดพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมอยู่ที่ 2 หมื่นคน และในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มเป็น 91,255 คน และในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 230,497 คน และคาดว่าจะส่งผลให้การเติบโตในไตรมาสที่ 4/64 ปรับดีขึ้น และส่งผลต่อเนื่องมาในเดือนมกราคม 2565 ด้วย

โดยหากดูในแง่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า รายได้เฉลี่ยก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 11.9 ล้านล้านบาท โดยในปี 2563 อยู่ที่ 10.6 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 89% ของค่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนโควิด-19 ซึ่งปรับลดลงไม่มาก และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 25645 หรือช่วง 9 เดือนแรก พบว่ารายได้อยู่ที่ 9.48 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 79% ของค่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนโควิด-19 และหากดูภาพรวมทั้งปีคาดว่าน่าจะมีรายได้เกิดกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดย 3 อุตสาหกรรมที่มีรายได้โดดเด่น ได้แก่ สินค้าอุตสากรรม ธุรกิจการเงิน และทรัพยากร

“ตอนนี้ทุกคนเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ชัดขึ้น โดยจุดเปลี่ยนมาจากวัคซีน ที่ทำให้ทุกคนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้สูงและปานกลางที่มีสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจ 70% ของจีดีพีโลก มีการฉีดไปแล้วมากกว่า 70-90% ส่งผลให้เศรษฐกิจริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการสินค้ามากขึ้น ส่งผลต่อมายังภาคการส่งออกของไทย

ซึ่งจะเห็นว่ามีการเติบโตสูงถึง 25% สูงกว่าค่าเฉลี่ยเซ็กเตอร์อื่นที่มีการเติบโตเฉลี่ย 5-10% หากดูภาคการส่งออกดีขึ้นทุกหมวดสินค้า ทำให้การผลิตดีขึ้น โดยมองว่าการขาดแคลนสินค้าจะเป็นแค่ระยะสั้นๆ ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2% ในทุกประเทศ ส่วนสหรัฐฯ ขึ้นไปกว่า 7% แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อจะทยอยลดลง”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้สร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทยด้วยกัน 4 ด้าน คือ 1.หนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น 2.หนี้ครัวเรือน 3.หนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และ 4.สินทรัพย์ถูกเปลี่ยนมือ

ดังนั้น จึงมีความท้าทายและโอกาสหลังโควิด-19 โดยความท้าทายมีอยู่ 4 ประการ คือ 1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี disruption 4.0 และ 2.การแข่งขันระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ 3.ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ความขัดแย้งเชิงพื้นที่ เช่น ยูเครน-รัสเซีย เป็นต้น และ 4.ความผันผวนของตลาดการเงินหลังจากธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ถอนมาตรการทางการเงิน

ทั้งนี้ ในส่วนของความผันผวนของตลาดการเงินหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถอนมาตรการทางการเงิน โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย และดึงสภาพคล่องกลับนั้น มองว่า แม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม จะมีผลต่อดอกเบี้ยหุ้นกู้และพันธบัตรที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ทำให้ภาคเอกชนระดมทุนที่มีต้นทุนสูงขึ้น สะท้อนถึงการหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ

ขณะที่ค่าเงินบาท จะเห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะการแข็งค่าและอ่อนค่าสลับกับในช่วงนี้ แต่ภายหลังจาเฟดมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนมีนาคมไม่ว่าจะ 3 หรือ 4 ครั้ง และเริ่มกระบวนการดึงสภาพคล่องกลับ จะเห็นดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าได้ ซึ่งต้องติดตามให้ดีในกรารดึงสภาพคล่อง เพราะเฟดจะดึงกลับราว 5 ล้านล้านดอลลาร์ และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ รวมกันกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อไทย

“ความท้าทายแท้จริง คือ หลังปลายอุโมงค์ที่เราเดินออกไปว่ามีอะไร เพราะคู่แข่งปรับตัวไปไกลแล้ว และถ้าเราไม่ปรับเราอาจจะเป็นพระเอกตายตอนจบ ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนจะเดินออกจากอุโมงค์มีเวลา 4-6 เดือนในการปรับตัว ซึ่งเราควรพัฒนา Intermediate S-curve เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพราะบุญเก่ากำลังจะหมด และถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของโลก และเป็นปีที่ท้าทายกับการลงทุน”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/