นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.60-36.30 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.10 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตามความหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงมากนัก

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าและมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาแนวโน้มราคาทองคำว่าจะเผชิญแรงขายทำกำไรรุนแรงจนปรับตัวลงหนักหรือไม่ (ราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทถึง 85%) รวมถึงควรติดตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนเลขเด็ด อาจารย์ดัง เข้าทุกงวดต่างชาติที่อาจเริ่มเห็นภาพการขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้าน ส่วนบอนด์ยิลด์ไทยเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะบอนด์ยิลด์ระยะยาวได้ปรับตัวลดลงพอสมควรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์ อาจย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับได้ แต่ต้องระวัง การรีบาวนด์ในระยะสั้นของเงินดอลลาร์ที่อาจเกิดขึ้นหากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นมากดดันให้ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวหรือปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off)

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่น Bowman, Mester และ Waller เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งจีนและสหรัฐฯ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม โดยตลาดคาดว่ายอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +1.0% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ (หากหักผลของยอดขายรถยนต์และน้ำมันจะขยายตัวเพียง +0.2%) ทั้งนี้ การขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกจะสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังดีอยู่ ทำให้เฟดยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (แม้ว่าอัตราการขึ้นอาจชะลอลง) ซึ่งหากยอดค้าปลีกโตกว่าคาดอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลประเด็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้งได้ (Good news is Bad news for the market) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) หลังจากที่ล่าสุด รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ได้ชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจตึงตัวน้อยลงและเริ่มชะลอตัวมากขึ้น หลังบรรดาบริษัทเทคฯ ต่างประกาศปรับแผนการจ้างงาน (ลดการจ้างงานใหม่) รวมถึงบางแห่งมีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันอาจมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีน้อยลง หลังวิกฤตพลังงานอาจไม่ได้น่ากังวลมากอย่างที่เคยประเมินกันก่อนหน้า ตามสภาวะอากาศในช่วงฤดูหนาวที่มีแนวโน้มอุ่นกว่าปกติ ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -52 จุด (ดัชนีติดลบ หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) ส่วนในฝั่งอังกฤษ ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมอาจพลิกกลับมาขยายตัว +0.5%m/m แต่เป็นการรีบาวนด์หลังหดตัวหนักถึง -1.4% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งตลาดยังคงกังวลว่า แนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คนในอังกฤษอาจซบเซาต่อเนื่อง ตามปัญหาค่าครองชีพสูง ซึ่งได้สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงวิกฤต GFC 2008 รวมถึงช่วงที่อังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1980s และ 1990s

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง +1.2%q/q เมื่อเทียบเป็นรายปี จากที่โตถึง +3.5% ในไตรมาส 2 โดยเป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นไตรมาส 3 ซึ่งกดดันให้ภาคการบริการของญี่ปุ่นหดตัวและเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงมีส่วนกดดันภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารสดและพลังงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.4% ตามการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ผลิต รวมถึงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศ โดยเรามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นได้ หากเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน และยังมีแนวโน้มทรงตัวเหนือกว่าระดับ 2% ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในเดือนตุลาคมยังคงซบเซาอยู่ ตามผลกระทบของมาตรการ Zero COVID โดยยอดค้าปลีกจะโตเพียง +0.7%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) อาจเพิ่มขึ้น +5.2% สอดคล้องกับการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 5.00% หลังเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้น ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 5.25% เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินรูเปียะห์ (IDR)